พระราชประวัติและพระราชกรณียกิจ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ

      

พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นสยามมกุฎราชกุมารพระองค์แรก ในสมัยการปกครองระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทย


      

พระราชประวัติ : สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามเมื่อแรกประสูติว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร" ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ ที่ 28 กรกฎาคม 2495 เวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

ขณะเมื่อทรงพระราชสมภพนั้น ประชาชนชาวไทยทั้งประเทศที่เฝ้ารอคอยพระประสูติกาลต่างปลาบปลื้มปิติ ชื่นชมโสมนัส แซซ้องในพระบุญญาธิการ ดังที่ ศาสตราจารย์ หม่อมราชวงศ์สุมนชาติ สวัสดิกุล ได้บรรยายถึงบรรยากาศก่อนเวลาพระราชสมภพ ตราบจนถึงนาทีอันเป็นมงคลฤกษ์เสด็จพระราชสมภพว่า

"…วันนี้ ครึ้มฟ้าครึ้มฝนตั้งแต่เช้า ฝนไม่ได้ตกมานาน นายแพทย์ผู้ถวายการประสูติเข้าประจำที่สักครู่ก็ประสูติพระราชกุมาร เวลา 17 นาฬิกา กับ 45 นาที ในนาทีเดียวกันนั้นเอง ฝนที่แล้งมาตลอดฤดูก็เริ่มโปรยปรายละอองลงมา ดูคล้ายๆ ฟ้าก็รู้เห็นเป็นใจกับการประสูติครั้งนี้ อารามดีใจสมประสงค์ของดวงใจทุกๆ ดวง นายแพทย์ ที่ถวายการประสูติ ซึ่งพร้อมที่จะบอกแก่ที่ประชุม ณ พระที่นั่งอัมพรสถานว่า พระราชโอรส หรือ พระราชธิดา กล่าวออกมาด้วยเสียงอันตื่นเต้นกังวานว่า ผู้ชาย แทนที่จะว่า พระราชโอรส ฝนโปรยอยู่ตลอดเวลา แตรสังข์ดุริยางค์เริ่มประโคม ทหารบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีปืนใหญ่ทั้งบกและเรือยิงสะเทือนเลื่อนลั่น เสียงไชโย โฮ่ร้องก็ดังอยู่สนั่นหวั่นไหว สมใจประชาชนแล้ว…ดวงใจทุกดวงมีความสุข…"

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้จัดพระราชพิธีสมโภชเดือนขึ้นพระอู่ขึ้น ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ในวันที่ 15 กันยายน 2595 โดยสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้าทรงเป็นประธานเจริญพระพุทธมนต์ในเย็นวันที่ 14 กันยายน 2495

ในวันที่ 15 กันยายน 2495 จึงมีพิธีสงฆ์และพิธีพราหมณ์ในห้องพอถึงพระฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจรดพระกรรบิดกริบพระเกศา ทรงเจิม ทรงผูกด้ายพระขวัญ พระสงฆ์สวดชัยมงคลคาถา พราหมณ์ประกอบพิธีลอยกุ้ง ปลาทอง มะพร้าวเงิน มะพร้าวทองลงในพระขันสาคร แล้วพระสงฆ์ถวายอดิเรก ถวายพระพรลา พระมหาราชครูเชิญเสด็จขึ้นพระอู่และเห่กล่อมเปิดศิวาลัยไกรลาศตามประเพณีพิธีของพราหมณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงวางพระราชภัณฑ์ลงในพระอู่ตามพระราชประเพณีแล้ว พระมหาราชครูเชิญสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณฯ ขึ้นพระอู่แล้ว พระบรมวงศานุวงศ์และข้าทูลละอองธุลีพระบาทเวียนเทียนครบรอบตามประเพณี สภาวัฒนธรรมแห่งชาติได้จัดขับไม้มโหรีขับกล่อมถวายพระพรในวาระนี้ด้วย ในการนี้มีการถ่ายทอดเสียงในพระราชพิธีทางวิทยุไปทั่วประเทศ

เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2515 ปวงชนชาวไทยต่างมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฎว่า

"สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒฯ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร"

ในมงคลวาระนั้น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามกุฎราชกุมาร ได้ถวายสัตย์ปฎิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งแสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นจะบำเพ็ญพระราชกรณียกิจ เพื่อชาติบ้านเมือง และประชาชนชาวไทย เป็นที่ซาบซึ้งประทับใจพสกนิกรอย่างยิ่ง ความว่า

"ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานกระทำสัตย์ปฎิญาณสาบานต่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทย เฉพาะพระพุทธ พระธรรม พระสงค์ เฉพาะพระพุทธมหามณีรัตนปฎิมากรท่ามกลางสันนิบาตรนี้ว่า ข้าพเจ้าผู้เป็น สยามมกุฎราชกุมาร จะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิต จะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่"

พระราชประวัติด้านการศึกษา : สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงสำเร็จการศึกษาขั้นต้นในระดับอนุบาล รุ่นที่ 2 จากโรงเรียนจิตรลดาแล้วจึงเสด็จฯ ไปทรงศึกษาต่อในระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนคิงส์มีด แคว้นซัสเซกส์ และในระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลฟิลด์ แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ หลังจากนั้น ทรงศึกษาต่อวิชาทหารที่โรงเรียนคิงส์สกูล ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย แล้วทรงศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (ด้านการทหาร) จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย

เมื่อเสด็จนิวัติประเทศไทย ทรงรับราชการทหารและศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก รุ่นที่ 46 เมื่อปี 2520 แล้วทรงผนวช เมื่อปี 2521

ครั้นแล้ว ทรงศึกษาที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช รุ่นที่ 2 เมื่อปี 2525 และสำเร็จหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร จากประเทศอังกฤษ เมื่อปี 2535

พระราชประวัติด้านศาสนา : สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงแสดงพระองค์เป็นพุทธมามกะที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2509 ก่อนเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ

นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงมีพระราชศรัทธาออกบวชในพระพุทธศาสนา โดยเจ้าอยู่หัวทรงโปรดให้จัดการพระราชพิธีทรงผนวช ณ พัทธสีมาวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2521 โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสนมหาเถร) เป็นพระราชอุปัธยาจารย์ โดยทรงได้รับถวายพระสมณนามว่า "วชิราลงฺกรโณ" และได้ประทับอยู่ ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ตลอดจนทรงลาสิกขาในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2521

สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปปฏิบัติพระราชกิจทางพระพุทธศาสนาอย่างสม่ำเสมอ เช่น ทรงเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงเปลี่ยนเครื่องทรงพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตามฤดูกาล เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา และการถวายผ้าพระกฐินหลวงตามวัดต่าง ๆ เป็นต้น

พระยศทางทหารสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร ทรงดำรงตำแหน่งพลเอกสามเหล่าทัพ คือ พระยศพลเอกของกองทัพบกไทย พระยศพลเรือเอกของกองทัพเรือไทย พระยศพลอากาศเอกของกองทัพอากาศไทย

พระราชกรณียกิจด้านการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาในทุกระดับ เมื่อครั้งทรงดำรงตำแหน่ง ผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ทรงพระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้อาคารสถานที่ของกรมทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ เป็นที่ตั้งของโรงเรียนอนุบาลและพระราชทานชื่อว่า โรงเรียนอนุบาลทหารมหาดเล็กราชวัลลภ

นอกจากนั้น พระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อการศึกษายังขยายไปสู่ท้องถิ่นทุรกันดาร เพื่อให้เยาวชนในท้องถิ่นๆ ได้มีโอกาสรับการศึกษาอย่างทั่วถึงโดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ สมทบเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษา ที่ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกล การคมนาคมไม่สะดวก ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการได้สนองพระราชประสงค์ ด้วยการน้อมเกล้าฯ ถวายโรงเรียนในระดับมัธยมศึกษาจำนวน 6 โรงเรียน เป็นโรงเรียนในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งได้แก่ โรงเรียนพัชรกิติยาภา อำเภอปากปลา จังหวัดนครพนม โรงเรียนมัธยมจุฑาวัชร อำเภอลานกระบือ จังหวัดกำแพงเพชร โรงเรียนมัธยมวัชเรศ อำเภอเมือง จังหวัด สุราษฎร์ธานี โรงเรียนมัธยมจักรีวัชร อำเภอรัตนภูมิ จังหวัดสงขลา โรงเรียนมัธยมวัชรวีร์ อำเภอท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา และ โรงเรียนมัธยมบุษย์น้ำเพชร อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาต่างๆ ในหลายวโรกาส และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารทรงมีพระราโชวาทเกี่ยวกับข้อคิดที่มีคุณค่า เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตนแก่บัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาให้เป็นคนดีของสังคม ดังพระราโชวาทที่อัญเชิญมาดังนี้

พระราโชวาทในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร ประจำปีการศึกษา 2551-2552 มีใจความสำคัญว่า

"…บัณฑิตเป็นผู้มีการศึกษาดีจึงชอบที่จะทำตัวทำงานให้เจริญก้าวหน้า ให้สมกับวิทยฐานะ ความเจริญก้าวหน้านั้น จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยเหตุปัจจัยประกอบกันหลายอย่าง อย่างที่หนึ่ง คือ ศรัทธา ความเชื่อมั่นในความดี อันเป็นปัจจัยหนุนนำให้เกิดความมุ่งมั่นที่จะทำตัวให้ดีขึ้นสูงขึ้น ไม่ยอมให้ตกต่ำเสียหาย อย่างที่สอง คือ ปัญญา ความเฉลียวฉลาด อันเป็นปัจจัยเกื้อกูลการคิดอ่านและการใช้ความรู้ ความสามารถของตน ให้เป็นไปในทางสร้างสรรค์และให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างที่สาม คือ สติ ความรู้ตัว อันเป็นปัจจัยใช้ควบคุมการคิด การพูด และการกระทำ ให้เที่ยงตรงเป็นกลาง ไม่ให้ถูกครอบงำด้วยอคติ อย่างที่สี่ คือ มนุษยสัมพันธ์ การรู้จักผูกมิตรไมตรีกับผู้อื่น อันเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ได้รับความร่วมมือจากทุกคนทุกฝ่ายให้ปฏิบัติงานได้สำเร็จราบรื่น คุณสมบัติดังกล่าวมีพร้อมในบุคคลใด ความเจริญก้าวหน้าย่อมเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้น บัณฑิตเมื่อเห็นประโยชน์ดังนี้ จึงควรจะได้ฝึกฝนอบรมตนให้มีคุณสมบัติครบถ้วน เพื่อจักได้สามารถทำตัวทำงานให้เจริญก้าวหน้าได้แท้จริง…"

พระราโชวาทสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมารในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันราชภัฏ ณ อาคารใหม่ สวนอัมพร เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2547 ความตอนหนึ่งว่า

“…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ข้าพเจ้ามาปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรของสถาบันราชภัฏ ประจำปีนี้ ขอแสดงความชื่นชมกับผู้ทรงคุณวุฒิและบัณฑิตทุกคนที่ได้รับเกียรติและความสำเร็จบัณฑิตแม้จะสำเร็จการศึกษาถึงชั้นปริญญาแล้วก็ตาม แต่ก็ไม่ควรหยุดนิ่งพอใจอยู่เพียงนั้น ทุกคนชอบที่จะทำตนให้เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียนอยู่เสมอตลอดชีวิต เพราะยิ่งเรียนรู้ได้ลึกซึ้งกว้างขวางเท่าใด ก็จะช่วยให้แต่ละคนสามารถดำเนินชีวิตและประกอบกิจการให้ประสบความสำเร็จและเจริญยิ่งขึ้นเท่านั้น ในพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขออวยพรให้บัณฑิตทุกคน และทุกท่านที่มาร่วมในพิธีมีความสุขสวัสดีจงทั่วกัน…”

นับเป็นที่ประจักษ์ว่า ตลอดระยะเวลานับแต่ยังทรงพระเยาว์จวบจนถึงปัจจุบัน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารได้ทรงยึดมั่นในพระปฎิญญาที่ได้พระราชทานไว้ในพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ทรงพระวิริยะอุตสาหะ มุ่งมั่นปฎิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชน โดยมิได้ทรงเห็นแก่เหน็ดเหนื่อย และมิได้ทรงย่อท้อ ด้วยทรงมีพระราชปณิธานมุ่งมั่น เสียสละ และบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อพสกนิกรชาวไทยอย่างแท้จริง ดังพระราชดำรัสในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯสยามมกุฎราชกุมารพระราชทานแก่ประชาชนชาวไทย ในโอกาสขึ้นปีใหม่ 2518 เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2517 ความตอนหนึ่งว่า

"...ระยะนี้ประเทศของเราก็ได้ประสบกับสถานการณ์ที่วุ่นวายและยุ่งยาก เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะต้องพยายามให้เกิดความสงบและเป็นปึกแผ่นให้มากที่สุด โดยเสียสละความสุขและผลประโยชน์ส่วนตัว เพื่อความก้าวหน้าของประเทศชาติ ที่สำคัญจะต้องรู้จักอดกลั้น เพื่อผ่อนคลายความยุ่งยากให้ลดน้อยลง สำหรับที่จะได้มีเวลาพิจารณาแก้ไขสิ่งต่างๆให้ลุล่วงไปโดยเรียบร้อย..."

ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้น

ขอน้อมเกล้าฯ ถวายพระพร

ขอจงทรงพระเจริญ




ผู้ป้อนข้อมูล [ผู้ดูแลระบบ] วันที่ 09 ก.ค. 2555

ปิดหน้านี้