น้ำ : พิธีกรรมและความเชื่อ

      

"น้ำ" ตามหลักวิทยาศาสตร์ คือ สารประกอบซึ่งมีองค์ประกอบเป็นธาตุไฮโดรเจนและออกซิเจนในอัตราส่วน ๑:๘ โดยน้ำหนัก เป็นของเหลวบริสุทธิ์ ใส ไม่มีกลิ่น ไม่มีสี ไม่มีรส โบราณถือเป็น ๑ ใน ๔ ธาตุคือ ดิน น้ำ ลม และไฟ ทางภูมิศาสตร์โลกมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึง ๒ ใน ๓ ส่วน แม้แต่ในร่างกายของคนเราก็มีน้ำเป็นสิ่งหล่อหลอมชีวิตที่สำคัญยิ่ง


      

น้ำ เป็นเครื่องชำระล้างสิ่งสกปรกและมลทิน ถือกันว่าเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ เพราะเมื่อมีน้ำการเพาะปลูกต่างๆก็ได้ผล เป็นที่สังเกตว่านับแต่โบราณกาลมาแหล่งอารยธรรมที่เจริญรุ่งเรืองล้วนอยู่มีบ่อเกิดอยู่บริเวณที่มีแหล่งน้ำทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ "น้ำ" จึงเป็นสิ่งที่ใช้ในพิธีต่างๆทั้งพิธีมงคลและอวมงคล โดยเฉพาะการอาบน้ำในพิธีก็มีกันในหลายชาติหลายภาษา พระยาอนุมานราชธน นักปราชญ์สำคัญของบ้านเรา ได้กล่าวถึงการ "อาบน้ำ"ว่าหากจะแปลกันตรงๆก็คือ การชำระมลทินของร่างกายด้วยน้ำ ซึ่งการอาบน้ำในพิธีของชาวไทยแต่ก่อน มีด้วยกัน ๔ กาละคือ

๑.อาบเมื่อปลงผมไฟ เพื่อล้างผมโกนที่ติดตัว

๒.อาบเมื่อโกนจุก เพื่อล้างผมที่ติดตัวเช่นกัน

๓.อาบเมื่อแต่งงานสมรส เพื่อทำตัวให้สะอาดเตรียมเข้าหอ

๔.อาบเมื่อตาย เพื่อทำศพให้สะอาด เตรียมขึ้นไปไหว้พระจุฬามณีเจดีย์

ซึ่งส่วนใหญ่ ท่านว่าการอาบน้ำดังกล่าวจะมีญาติมิตรมาช่วยรดน้ำอาบน้ำให้ด้วยความเอื้อเฟื้อ ยกเว้นโกนผมไฟ เพราะเด็กยังอ่อนอาบมากไม่ได้ และการช่วยอาบน้ำที่ว่าก็เลยลามไปถึงกาลปกติอย่างในฤดูร้อนช่วงสงกรานต์ ที่ลูกหลานไปช่วยกันอาบน้ำให้พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย พระสงฆ์องค์เจ้า และสาดน้ำกันเอง ซึ่งนอกจากเพื่อความสนุกสนานแล้ว คงจะมีนัยให้เกิดความสมบูรณ์ของฟ้าฝนเพื่อประโยชน์ในการทำไร่ไถนาด้วย และได้กลายมาเป็นพิธีประจำปีขึ้นมา การอาบน้ำเมื่อแรกๆก็คงจะอาบแบบทั้งตัว แต่ครั้นภายหลังคงเห็นเป็นเรื่องเอิกเกริกยุ่งยาก จึงย่นย่อลงเพียงการพรมที่หัว รดตัว และรดมือพอควรแก่เหตุ เสมือนว่าได้รดน้ำอาบน้ำให้แล้ว

คนเราโดยทั่วไป แม้จะไม่ได้ทำพิธีใดๆ ก็ต้องอาบน้ำอาบท่าชำระร่างกายให้สะอาดเป็นปกติอยู่แล้ว และเมื่อทำพิธีก็ยิ่งต้องทำร่างกายให้บริสุทธิ์ยิ่งขึ้น ดังเช่นลัทธิพราหมณ์ ก่อนจะเริ่มพิธีใดก็ต้องมีพิธีสนาน คืออาบน้ำเสียก่อนเพื่อให้เข้าพิธีด้วยความบริสุทธิ์ ประเพณีของเราเองไม่ว่าจะเป็นการบวชนาค ที่ต้องมีการอาบน้ำนาคก่อนบวชในวันรุ่งขึ้น หรือพิธีแต่งงานที่สมัยก่อนมีการซัดน้ำจนเปียกปอนจริงๆ แต่ปัจจุบันเหลือเพียงรดมือพอเป็นพิธีเท่านั้น ท่านว่าก็ล้วนเป็นการทำให้ร่างกายบริสุทธิ์ เป็นการล้างมลทินเพื่อเตรียมเข้าพิธีต่างๆทั้งสิ้น เช่นเดียวกับการรดน้ำ สรงน้ำ หรืออาบน้ำวันสงกรานต์ก็เพื่อชำระล้างมลทินหรือสิ่งไม่ดีไม่งามออกจากตัวเราเพื่อให้มีความบริสุทธิ์รับปีใหม่ที่จะมาถึงนั่นเอง

จากที่กล่าวมาแล้วว่า "น้ำ" เป็นเครื่องชำระล้างมลทินและยังเป็นเครื่องหมายแห่งความอุดมสมบูรณ์ต่างๆ ทำให้สัญลักษณ์และความเชื่อเกี่ยวกับน้ำจึงมีปรากฏอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะในบ้านเราจะเห็น น้ำ เกี่ยวข้องกับเราไปหมด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพิธีกรรม ประเพณี การละเล่นทางน้ำ ประติมากรรม งานช่างฝีมือต่างๆ เป็นต้น


สำหรับสัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งธาตุน้ำ ได้แก่พญานาค และมังกร อันเป็นคติความเชื่อทางแถบ เอเซีย เช่น ไทย ลาว เขมร และจีน เป็นต้น มีตำนานกล่าวว่าราชวงศ์เซียของจีนเกิดจากการเลื้อยพันกัน ระหว่างมังกรตัวผู้และตัวเมีย ดังนั้นสัญลักษณ์ของพระเจ้าแผ่นดินจีนจึงเป็นมังกร ส่วนคำว่า "นาค"ภาษาสันสฤตแปลว่า "งู" ในทางพุทธศาสนา เราอาจจะคุ้นเคยกับพระพุทธรูปปางนาคปรก อันเป็นพระประจำวันเสาร์ นั่นคือ พญานาคมุจลินทร์ ที่แผ่เบี้ยปกคลุมเศียรพระพุทธเจ้า ซึ่งประทับสมาธิอยู่บนขนดนั้น และเมื่อพระพุทธเจ้าใกล้จะตรัสรู้ พระแม่ธรณีก็มาบีบมวยผมปล่อยน้ำมาท่วมเหล่าพญามารที่มาผจญพระพุทธองค์จนหมดสิ้นไป นอกจากยังมีตำนานเล่าว่า ครั้งหนึ่งพญานาคได้กลืนกินน้ำจนแห้งไปหมดทั้งโลก แล้วไปขดตัวนอนหลับกลายเป็นเมฆอยู่บนยอดเขาพระสุเมรุ ร้อนถึงพระอินทร์ที่ต้องใช้สายฟ้าฟาดกลางขนดพญานาคจนขาดเป็นท่อนๆ เพื่อให้มีน้ำไหลออกมาหล่อเลี้ยงโลกมนุษย์
พิธีกรรมสำคัญๆที่ต้องมีน้ำเป็นส่วนประกอบก็มีหลายพิธี เช่น พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ต้องมีการอัญเชิญน้ำมูรธาภิเษก (น้ำที่จะใช้รดพระเศียรพระเจ้าแผ่นดิน)ที่จะสรง จากสถานที่ต่างๆอันศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในราชอาณาจักรมาทำพิธี ซึ่งเมื่อทรงสรงด้วยน้ำนี้แล้ว ก็ถือว่าได้แปรสภาพองค์เข้าสู่ความเป็นกษัตริย์เป็นขั้นแรก ก่อนจะมีพิธีอื่นๆต่อไป การถือน้ำพิพัฒน์สัตยา เป็นอีกพิธีกรรมหนึ่งในสมัยก่อนที่จะป้องกันข้าราชการมิให้ฉ้อราษฎร์บังหลวง โดยทำพิธีในวัดพระแก้ว ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ โดยให้ข้าราชการถวายสัตย์สาบาน ด้วยการดื่มน้ำที่ผ่านการปลุกเสกจากการที่พระมหาราชครูชุบพระแสง ๓ องค์ลงในน้ำแล้วอ่านโองการแช่งไว้

นอกจากนี้ยังมีพิธีที่เกี่ยวกับน้ำในทางเกษตรกรรม ที่พระเจ้าแผ่นดินต้องทรงทำหน้าที่เหมือนพระอินทร์มาปราบนาคดังตำนานข้างต้น อย่าง พระราชพิธีไล่เรือ และพระราชพิธีไล่น้ำ จะทำต่อเมื่อปีไหนน้ำหลากท่วมไร่นามากเกินไป พระมหากษัตริย์พร้อมพระมเหสี พระเจ้าลูกเธอและพระสนมก็จะแต่งองค์เต็มยศลงเรือพระที่นั่ง เสด็จออกไปประทับยืนทรงพัชนีบังคับให้น้ำลด ซึ่งพระราชพิธีดังกล่าวนี้เคยทำในสมัยรัชกาลที่ ๑ ครั้งหนึ่ง และรัชกาลที่ ๓อีกครั้งหนึ่ง แต่หากปีไหนฝนแล้ง ก็เป็นพระราชภาระที่ต้องทำพิธีที่เรียกว่า พระราชพิธีพิรุณศาสตร์ เพื่อขอฝนอีกเช่นกัน ส่วนพระราชพิธีพยุหยาตราทางชลมารคนั้น นอกจากจะแสดงให้เห็นความอลังการของขบวนเรือที่งดงามแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงฝีมือทางด้านประติมากรรมที่ปรากฏบนเรือสำคัญๆแต่ละลำด้วย

ในส่วนของชาวบ้านชาวเมือง เราก็มีประเพณีที่เกี่ยวข้องกับน้ำหลายประเพณี เช่น ประเพณีสงกรานต์ ลอยกระทง งานบุญบั้งไฟ หรือแห่นางแมวเพื่อขอฝน รวมไปถึงการละเล่นทางน้ำต่างๆ อาทิ การพายเรือเล่นสักวา การแข่งเรือ หรือแม้แต่เทศกาลชักพระ โยนบัว ที่เป็นงานประจำปีที่สำคัญของบางจังหวัด

อนึ่ง ในตำนานสร้างเมืองทั้งของไทยและเขมรก็มีนิยายเล่าต่อๆกันมาว่า ที่มีบ้านเมืองขึ้นมาได้เพราะเจ้าครองนครคนแรกซึ่งมีนามว่า พระทอง ได้อภิเษกสมรสกับธิดาพญานาค ทำให้พญานาคกลืนน้ำซึ่งท่วมดินแดนนั้นอยู่จนแผ่นดินแห้งกลายเป็นประเทศขึ้นมา ชื่อว่า "กัมพูชา" และเรื่องนี้ยังได้ถ่ายทอดต่อมาในรูปแบบวรรณกรรม นาฏศิลป์และศิลปกรรม แสดงให้คนรุ่นหลังได้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์และนาค อันเป็นสัญลักษณ์ของน้ำด้วย

ที่ว่ามาข้างต้นคือ ความเชื่อ ประเพณี พิธีกรรมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับ "น้ำ" ที่กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม ได้นำข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ"น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย"ของ ดร.สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา ศิลปินแห่งชาติ มาเสนอเพื่อเป็นความรู้ ซึ่งนอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว "น้ำ" โดยตัวมันเองในสถานะของเหลวอันไปรวมกับสิ่งอื่นๆก็มีทั้งคุณและโทษไม่น้อย เช่น น้ำกรด น้ำเมา น้ำจัณฑ์ สามารถก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อสิ่งของและร่างกายหากดื่มเข้าไป ในขณะที่น้ำเกลือ น้ำนม น้ำกระสาย น้ำมนต์ กลับช่วยรักษาทั้งร่างกายและจิตใจได้ เป็นต้น กล่าวได้ว่า "น้ำ" มีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์ อย่างไรก็ตาม "น้ำ" ในปัจจุบัน ที่จะทำให้บ้านเมืองและสังคมเกิดความสงบสุข น่าจะเป็น "น้ำคำ" ที่หมายถึง การพูดดี พูดมีประโยชน์และถูกต้องตามกาละเทศะ รวมไปถึง "น้ำใจ" ที่พร้อมจะช่วยเหลือ เกื้อกูลซึ่งกันและกันมากกว่าอย่างอื่น

------------------------------------------------
ที่มา
สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ


ผู้ป้อนข้อมูล [ผู้ดูแลระบบ] วันที่ 02 มิ.ย. 2552

ปิดหน้านี้