" ฤกษ์งามยามดี "

      


   ความเชื่อเรื่องฤกษ์ยามดีของคนไทย มีมาตั้งแต่สมัยปู่ ย่า ตายาย ในการจะดำเนินการงานสิ่งใด จะต้องมีการดูฤกษ์ก่อนทุกครั้งไป คำว่า " ฤกษ์ " แปลว่า การมองดู การตรวจการพิจารณาดูคราวที่เหมาะ เวลาที่เหมาะ จังหวะที่เหมาะแก่การประกอบการงานที่เป็นมงคลนั้น ๆ หมายความว่า ก่อนที่คนเราจะประกอบการงานที่เป็นมงคลอย่างใดอย่างหนึ่ง สมควรจะต้องพินิจพิจารณาเลือกหากำหนดวันเวลาที่เหมาะแก่การประกอบพิธีมงคลนั้น ๆ โดยไม่รีบด่วนจนเกินไป จนกระทั่งตระเตรียมอะไรไม่ทัน และโดยไม่ล่าช้าจนเกินไป จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่ายที่จะเฝ้ารอคอยวันเวลาที่เป็นฤกษ์ดี

   ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๖ ให้คำนิยามไว้ว่า " การกำหนดวัน ยาม ฤกษ์ ราศี ดิถี ของแต่ละปีเป็นธงชัย อธิบดี อุบาทว์ โลกาวินาศ หมายถึง การกำหนดว่า วันไหน ช่วงเวลาใดเป็นเวลาที่ดีและร้ายสำหรับกระทำการมงคลต่าง ๆ


      

การพินิจพิจารณาตรวจดูทางได้ทางเสีย การตรวจดูฤกษ์ การหาฤกษ์ หรือ การดูฤกษ์เมื่อพิจารณาดูวัน เวลา สถานที่ บุคคล และสิ่งของเครื่องประกอบการทั้งหลาย โดยถี่ถ้วนว่าไม่มีอะไรขาดตกบกพร่อง ไม่มี อะไรขัดข้อง มีสมบูรณ์ดีทุกประการ อย่างนี้แหละเรียกว่า " ฤกษ์งามยามดี " แต่ถ้าเห็นว่ามีอะไรบางอย่าง หรือหลายอย่างยังไม่พร้อมเรียกว่า " ฤกษ์ยังไม่งาม ยามยังไม่ดี " หรือ " ฤกษ์ไม่ดี "

ระเบียบปฏิบัติการหาฤกษ์งามยามดีแบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

ฤกษ์งามยามดีทางคดีโลก ในทางคดีโลก สังคมมนุษย์ส่วนมากนิยมปฏิบัติสืบกันมาว่าวัน เวลาใดประกอบด้วย ส่วนดี คือ เป็นเดช เป็นศรี เป็นมูละ เป็นอุตสาหะ เป็นมนตรี เป็นราชาฤกษ์ เป็นเทวีฤกษ์ เป็นมหัทธโนฤกษ์ เป็นต้น ส่วนดีเหล่านี้มีมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และ ประกอบด้วย ส่วนเสีย คือ เป็นอุบาทว์เป็นโลกาวินาศ เป็นกาลกรรณี เป็นอริ เป็นมรณะ เป็นวินาศ เป็นต้น เหล่านี้ให้มีน้อยที่สุด เท่าที่จะหลีกเลี่ยงได้พร้อมทั้งท่านอาจารย์ผู้ให้ฤกษ์นั้น ก็เป็นผู้ทรงวิทยาคุณทาง โหราศาสตร์ มีชื่อเสียงปรากฏเป็นที่ยอมรับนับถือของมหาชนทั่วไปในท้องถิ่นนั้น วันเวลาฤกษ์เช่นนี้แหละ สังคมมนุษย์เรานิยมยอมรับนับถือ เชื่อได้ด้วยความแน่ใจว่า " เป็นฤกษ์งามยามดี " สำหรับประกอบพิธีมงคลนั้น ๆ

ฤกษ์งามยามดีทางคดีธรรม ในทางคดีธรรม คือ ตามคำสอนทางพระพุทธศาสนา สมเด็จพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงสอนพุทธบริษัทเรื่องฤกษ์ เรื่องงามยามดีตามความเป็นจริงไว้ในสุปุพพัณหสูตร โดยมีใจความว่า

" คนเราประพฤติกายสุจริต (คือ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม) ประพฤติวจีสุจริต (คือ ไม่พูดปด ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดหยาบคาย ไม่พูดเพ้อเจ้อเรื่องที่เหลวไหลไร้สาระประโยชน์) ประพฤติมโนสุจริต (คือไม่โลภอยากได้ของเขาในทางทุจริต ไม่พยาบาทปองร้ายเขา ไม่เป็นมิจฉาทิฏฐิเห็นผิดเป็นชอบ) กล่าวคือ กระทำความดีทางกาย ทางวาจา และทางใจ ในเวลาเช้า สาย บ่าย เย็น เวลาค่ำคืน หรือ เวลาใดก็ตาม เวลานั้นแหละชื่อว่า " เป็นฤกษ์งามยามดี " สำหรับผู้ทำความดีนั้น "

รวมความว่า ฤกษ์งามยามดีนั้น ในทางคดีโลก นิยมยึดถือ วันเวลาที่ดีเป็นสำคัญ ส่วน ในทางคดีธรรม คือทางพระพุทธศาสนานิยมยึดถือ การทำความดีเป็นสำคัญ ที่เป็นเหตุทำให้คนเรามีความเจริญรุ่งเรือง

สำหรับในทางโหราศาสตร์ได้กำหนดฤกษ์ไว้ ๙ ฤกษ์ ได้แก่

 

- ๒ -

๑. ทลิทโทฤกษ์ ได้แก่ฤกษ์ที่ ๑,๑๐ และ ๑๙ เรียกว่า ทลิทโทฤกษ์ แปลว่า ผู้มักน้อย ผู้เข็ญใจ ผู้ขอ ผู้ต้องเหน็ดเหนื่อย ผู้อดทน ผู้ที่ต้องรับผิดชอบสูง ฤกษ์นี้เป็นฤกษ์ของ " ชูชก " มีพระอาทิตย์เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง ๔ อยู่ในราศีเดียวกันเป็น " บูรณะฤกษ์ " ที่เต็มโดยสมบูรณ์ คือฤกษ์ที่ไม่ขาดแยกแตกบาทฤกษ์ไปอยู่คนละราศี และเรียกว่า จัตตุรฤกษ์ หรือ ขันธฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ การขอสิ่งต่าง ๆ เพราะถือว่า เป็นฤกษ์ของชูชก จะทำการขอสิ่งใดก็ง่าย เช่น การขอหมั้น ขอแต่งงาน ทวงหนี้ กู้ยืม ร้องทุกข์ การทำการใด ๆ เพื่อให้ผู้อื่นสงสารกรุณา เปิดร้านของชำ ของเก่าชำรุด สมัครงาน ทำการใด ๆ ที่ริเริ่มใหม่

๒. มหัทธโนฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๒,๑๑ และ ๒๐ เรียกว่า มหัทธโนฤกษ์ แปลว่า คนมั่งมี ผู้รุ่งเรือง เศรษฐี มีพระจันทร์เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง ๔ อยู่ในราศีเดียวกันเป็น " บูรณะฤกษ์ " เป็นฤกษ์ที่เหมาะสมการขอสิ่ง ต่าง ๆ เช่น ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ปลูกสร้างอาคาร ธุรกิจการเงิน การค้าอุตสาหกรรม เปิดห้างร้าน ลาสิกขาบท สะเดาะเคราะห์ และ สารพัดงานมงคล

๓. โจโรฤกษ์ ได้แก่ฤกษ์ที่ ๓,๑๒ และ๒๑ เรียกว่า โจโรฤกษ์ แปลว่า โจร ผู้ปล้น ผู้ลักขโมย นักเลง ผู้ใช้กำลัง ผู้กล้าหาญมีอำนาจ ผู้ว่องไว มีพระอังคารเป็นผู้รักษาฤกษ์ ฤกษ์บาททั้ง ๔ ไม่รวมอยู่ในราศีเดียวกัน คาบเกี่ยวอยู่ ๒ ราศีเป็น " ฉินทฤกษ์ " คือ ฤกษ์ขาดแตก โดยเฉพาะบาทแรกของต้นราศีนั้น เป็นฤกษ์บาทที่ร้ายแรงมากกว่าบาทอื่น เป็นนวางค์ที่ร้ายแรงมากไม่ควรให้ฤกษ์มงคล เป็นฤกษ์ที่เหมาะสม คนโบราณใช้ในการปล้นค่าย จู่โจมโดยฉับพลัน ข่มขวัญ บีบบังคับ ทำการปราบปราม การแข่งขันช่วงชิง การแย่งอำนาจและผลประโยชน์ งานเสี่ยง ๆ ในระยะสั้น ๆ การปฏิวัติ งานของบุคคลในเครื่องแบบใช้กำลัง

๔. ภูมิปาโลฤกษ์ ได้แก่ กฤษ์ที่ ๔,๑๓ และ ๒๒ เรียกว่า ภูมิปาโลฤกษ์ แปลว่า ผู้รักษาแผ่นดิน มีพระพุทธเป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง ๔ อยู่ในราศีเดียวกันเป็น บูรณะฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ การมงคลต่าง ๆ งานที่ต้องการความมั่นคงถาวร งานเกี่ยวกับที่ดิน การเกษตร การเช่าซื้อ ก่อสร้าง ปลูกเรือน ยกศาลพระภูมิแต่งงาน ขึ้นบ้านใหม่ ลาสิกขาบท เปิดอาคารห้างร้าน และสารพัดงานมงคลทั้งปวง

๕. เทศาตรีฤกษ์ ได้แก่ กฤษ์ที่ ๕,๑๔ และ ๒๓ เรียกว่า เทศาตรีฤกษ์ แปลว่า ข้ามท้องถิ่น หญิงเพศยา ผู้ท่องเที่ยว บางคราวเรียกว่า " เวสิโยฤกษ์ " หมายถึง ฤกษ์พ่อค้า -- แม่ค้า มีพระเสาร์เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง ๔ อยู่ปลายราศีหนึ่ง และต้นราศีหนึ่งแห่งละ ๒ บาทฤกษ์ คือคาบเกี่ยวอยู่ราศีละครึ่ง คือในราศี พฤษภกับเมถุน,กันย์กับตุลย์ และมกรกับกุมภ์ เป็นฤกษ์อกแตก หรือ พินทุฤกษ์ หรือ ดินฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่ เหมาะสำหรับ งานการติดต่อการค้าระหว่างถิ่น เกี่ยวกับความสนุกสนานชักชวนคนให้เข้าและออกเป็นจำนวนมาก เปิดโรงมหรสพ สถานเริงรมย์ ซ่องโสเภณี โรงแรม โรงหนัง ตลาดและศูนย์การค้า การประกอบอาชีพนอกสถานที่ อาชีพเร่ร่อน อาชีพที่ต้องย้ายที่อยู่เสมอ

๖. เทวีฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๖,๑๕ และ ๒๔ เรียกว่า เทวีฤกษ์ แปลว่า นางพญา ความงามหรูหรา ความมีเสน่ห์ โชคลาภ และการสมความปรารถนา มีพระพฤหัสฯ เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง ๔ อยู่ในราศีเดียวกันเป็น บูรณะฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่มุ่งให้เกิดโชคลาภ เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ การเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ การหมั้นหมายและสมรส การส่งตัวเจ้าสาวและเข้าห้องหอ การทำกิจการที่ต้องการชื่อเสียงและมีเสน่ห์ งานมีเกียรติ งานเชิงศิลปะ ตกแต่งชั้นสูง เปิดร้านค้าอัญมณีเครื่องประดับ ร้านเสริมสวย ตัดเย็บเสื้อผ้า การประชาสัมพันธ์ ลาสิขาบท ขึ้นบ้านใหม่ ขอความรัก งานเพื่อความสงบเรียบร้อย และสารพัดงานมงคลทั้งปวง

๗. เพชฌฆาตฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๗,๑๖ และ ๒๕ เรียกว่า เพชฌฆาตฤกษ์ แปลว่า ผู้ทำหน้าที่ฆ่า มีพระราหูเป็นผู้รักษาฤกษ์ ฤกษ์บาททั้ง ๔ แตกขาดกัน และตรงข้ามกับ โจโรฤกษ์ เรียกว่า " ตรินิเอก " คือ อยู่ปลายราศี ๓ ฤกษ์บาท และ ต้นราศี ๑ ฤกษ์บาท ไม่ควรให้ฤกษ์ในการมงคลเลย เป็นฉันทฤกษ์ (ฤกษ์แตกขาด) เป็นฤกษ์ที่เหมาะสมสำหรับ การฟันผ่าอันตรายและอุปสรรค ต่อสู้เสี่ยงภัยต่าง ๆ อาสางานใหญ่ ทำกิจปราบปรามศัตรู ตัดสินคดีความ งานที่ใช้การตัดสินใจอย่างเด็ดขาด ประกอบพิธีไสยศาสตร์ ปลุกเสกเครื่องราง ของขลัง ลงเลขยันต์ สร้างวัตถุมงคลแบบคงกระพันชาตรี สร้างสิ่งสาธารณะกุศลสงเคราะห์ เปิดโรงพยาบาล

การรักษาโรคเรื้อรังที่หายยาก ๆ การยาตราทัพเจิมอาวุธยุทธภัณฑ์ สร้างโบสถ์วิหารการเปรียญ คล้ายกับ โจโรฤกษ์ แต่ฤกษ์นี้จะแรงกว่า

- ๓ -

๘. ราชาฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๘,๑๗ และ ๒๖ เรียกว่า ราชาฤกษ์ แปลว่า ผู้ยิ่งใหญ่ ผู้มีอำนาจวาสนา พระเจ้าแผ่นดิน มีพระศุกร์เป็นผู้รักษาฤกษ์ บาทฤกษ์ทั้ง ๔ อยู่ในราศีเดียวกัน เรียกว่า บูรณะฤกษ์ เป็นฤกษ์เฉพาะกิจการของผู้หลักผู้ใหญ่ ผู้นำกิจการขึ้นไปจนถึงพระราชา เป็นฤกษ์ที่เหมาะสำหรับ งานราชพิธี งานราชการงานเมือง สร้างที่ประทับ งานที่ต้องการชักจูงให้ผู้อื่นดำเนินตาม การเข้ารับตำแหน่งงาน การแสวงหาชื่อเสียงเกียรติยศ การเข้าหาผู้หลักผู้ใหญ่ งานมงคลสมรสที่หรูหรามีเกียรติ ลาสิขาบท การขึ้นบ้านใหม่ (สามัญชนควรเว้น ถ้าหาฤกษ์ไม่ได้ก็พออนุโลมใช้ได้ เพื่อดวงชะตาและความเหมาะสม) และงานมงคลทั้งปวง

๙. สมโณฤกษ์ ได้แก่ ฤกษ์ที่ ๙,๑๘ และ๒๗ เรียกว่า สมโณฤกษ์ แปลว่า (สงบเรียบร้อย นักบวช นักสอนศาสนา) มีพระเกตุเป็นผู้รักษาฤกษ์ ฤกษ์บาททั้ง ๔ อยู่ปลายราศีเดียวกัน แต่บาทฤกษ์สุดท้ายนี้ เป็นนวางค์ขาดสุดราศีพอดี เรียกว่า " จัตตุรฤกษ์ " หรือ " ขันธฤกษ์ " จึงเป็นจุดที่มีผลเสียให้เกิดอันตรายต่าง ๆ ในการแข่งขัน ใช้ได้เฉพาะกิจเกี่ยวกับความสงบความสุจริต เป็นฤกษ์ที่เหมาะสมสำหรับ ทำพิธีกรรมทางศาสนา และทางนักบวช เช่น การทำขวัญนาค การอุปสมบท หล่อพระและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้ารับการศึกษา และการกระทำทุกอย่างเพื่อความสงบร่มเย็นเป็นสุข สงเคราะห์ในฤกษ์นี้ได้ เช่น ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญต่ออายุ

วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับฤกษ์ตามหลักเหตุผลของฤกษ์งามยามดี

- ในพิธีมงคลต่าง ๆ เช่นงานมงคลสมรส งานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ หรืองานพิธีเกี่ยวกับส่วนรวม ผู้จัดงานจะต้องถือฤกษ์งามยามดีเป็นสำคัญ ถ้าไม่ถือฤกษ์ทำตามชอบใจ หากเกิดความเสียหายอะไรขึ้นก็จะแก้ไขอะไรไม่ได้

- ถ้าเป็นงานส่วนตัวโดยเฉพาะ ไม่เกี่ยวเนื่องกับคนอื่นไม่ควรถือทางคดีโลก แต่นิยมถือฤกษ์ทางคดีธรรม คือ นิยมถือฤกษ์ความสะดวกเป็นสำคัญ สะดวกใจ สบายใจ เมื่อใดก็ทำเมื่อนั้น ไม่จำเป็นจะต้องมัวรอคอยฤกษ์ยามวันเวลา

- การถือฤกษ์ทางคดีธรรมนั้น คือ การพินิจพิจารณาตรวจดูความพร้อมอย่างรอบคอบ ก่อนที่จะดำเนินการงานทุกอย่างเมื่อได้พิจารณาตรวจดูด้วยจิตทุกทิศแล้ว ไม่ประสบพบเห็นความขาดตกบกพร่อง ความเสียหายโดยประการใด ๆ แล้วแน่ใจได้ว่า " นั้นแหละ " คือ " ฤกษ์งามยามดี " สำหรับตัวเราแล้ว ซึ่งถูกต้องตรงตามคำสอนทางพุทธศาสนาทุกประการ

- สำหรับชาวพุทธทั้งหลาย นิยมเป็นผู้ตระหนักอยู่ในหลักเหตุผล จะทำอะไรต้องทำอย่างมีเหตุผล นิยมใช้สติปัญญาพินิจพิจารณาว่างานใดเกี่ยวเนื่องด้วยคนอื่น งานใดเป็นเรื่องส่วนตัว แล้วประพฤติปฏิบัติตนตามสมควรแก่เหตุผล โดยเหมาะสม ชนิดไม่ให้ขัดโลก ไม่ให้ฝืนธรรม แบบโลกก็ไม่ให้ช้ำ ธรรมก็ไม่ให้เสีย บัวก็ไม่ให้ช้ำ น้ำ (ใจ) ก็ไม่ให้ขุ่น

- เมื่อปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็หวังได้แน่ว่า จะมีความเจริญรุ่งเรืองโดยส่วนเดียว หาความเสื่อมเสียมิได้ และเป็นการปฏิบัติเหมาะสมกับภาวะที่ตนเป็นชาวพุทธอย่างแท้จริง

การถือฤกษ์งามยามดีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือเกิดความสบายใจในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ โดยไม่ต้องวิตกกังวลห่วงใย และสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ข้อเสีย คือบุคคลที่เชื่อมั่นฤกษ์งามยามดีมากเกินไปจะทำอะไรก็ต้องรอคอยฤกษ์ เมื่อถึงคราวเหมาะที่ควรทำก็ไม่ทำ เพราะยังไม่ได้ฤกษ์ ผลประโยชน์ที่ควรได้ก็ไม่ได้ทำให้เสียไปกับกาลเวลา บุคคลผู้ถือฤกษ์จัด มัวแต่รอคอยฤกษ์ดีอยู่ มักจะทำอะไรไม่ทันเพื่อน ดังนั้นควรพิจารณาการดูฤกษ์ให้เหมาะสม จึงจะเรียกได้ว่า " ฤกษ์งามยามดี "

เอกสารอ้างอิง หนังสือระเบียบปฏิบัติของชาวพุทธ โดยพระธรรมวโรดม (บุญมา คุณสมปนโน ป.ธ. ๙ )


ผู้ป้อนข้อมูล [ผู้ดูแลระบบ] วันที่ 07 ก.ค. 2551

ปิดหน้านี้